แต่งงานอิสลาม โดยไม่เปลี่ยนศาสนาได้ไหม?
เชื่อว่าหลายคนๆอาจเคยพบกับการตั้งคำถามนี้ไม่มากก็น้อย คำตอบคืออะไร ? เราจะเข้าใจภาพรวมมากขึ้น ถ้าเราเข้าใจความหมายของการแต่งงานบริษัทอารยานิกะห์ ซึ่งดูแลการแต่งงานอิสลามให้กับครอบครัวพหุวัฒนธรรมทั้งคนไทยและต่างชาติจะมาเล่าเรื่องนี้ให้ฟังครับ
การแต่งงานแท้จริงแล้วคืออะไร?
การแต่งงาน คือ รูปแบบการทำพันธะสัญญาต่อกันระหว่างคู่สมรส รูปแบบการแต่งงานมีหลักสองแบบ
1.การแต่งงานตามกฏหมาย คือการทำพันธะสัญญาต่อกัน โดยรัฐ จะเข้ามาเป็นผู้ควบคุมกติกา
2.การแต่งงานตามจารีต-ศาสนา คือการทำพันธะสัญญาต่อกันตามความเชื่อศาสนา
พันธะสัญญาในการแต่งงาน เกี่ยวกับเรื่องอะไรบ้าง
หัวข้อหลักของพันธะสัญญาในการแต่งงานตามกฎหมายประกอบด้วย:
- ความสามารถในการแต่งงาน – อายุ, สถานะโสด, ความยินยอม
- สิทธิและหน้าที่คู่สมรส – ดูแลซึ่งกันและกัน
- ทรัพย์สินสมรส – การจัดการและแบ่งทรัพย์สิน
- ค่าเลี้ยงดู – ค่าใช้จ่ายชีวิตสมรสและบุตร
- การแก้ไขข้อพิพาท – วิธีการไกล่เกลี่ย
- การดูแลบุตร – สิทธิและหน้าที่ในการเลี้ยงดู
- การหย่าร้าง – เงื่อนไขและการแบ่งสิทธิหลังหย่า
- พันธะอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง – ข้อตกลงก่อนสมรส, การเปลี่ยนแปลงสถานภาพ
เมื่อทำพันธะสัญญาที่เรียกว่าการแต่งงาน จะถือว่า ชายและหญิงนั้น ทำข้อตกลงบางประการร่วมกัน ที่จะบริหารชีวิตครอบครัว ร่วมกัน ภายใต้หลักการเดียวกันเหล่านี้
สาเหตุสำคัญที่ผู้หญิงควรทำพันธสัญญาในการแต่งงาน
การแต่งงานคือการเดินทางร่วมกันของชายหญิงที่มีทั้งความรักและความฝัน แต่ชีวิตคู่ไม่ใช่แค่การอยู่ด้วยกันอย่างมีความสุขในทุกวัน ยังมีภาระหน้าที่ ความรับผิดชอบ และความท้าทายที่เข้ามาเสมอ พันธสัญญาในการแต่งงานจึงเป็นเหมือนหลักยึดที่ช่วยให้ทั้งสองฝ่ายสามารถก้าวผ่านปัญหาไปด้วยกัน โดยไม่รู้สึกโดดเดี่ยวและลำพังเมื่อเจอกับเรื่องหนัก ๆ
เพราะอะไรพันธสัญญาถึงสำคัญ?
- เมื่อการเงินมีปัญหา
เมื่อถึงเวลาที่การเงินติดขัด การที่ทั้งสองฝ่ายรู้ว่าใครจะช่วยอะไร ใครควรทำอะไร และการแบ่งภาระในครอบครัวเป็นอย่างไร ทำให้รู้สึกมีที่พึ่งและลดความเครียดที่อาจเกิดขึ้น ความชัดเจนในเรื่องนี้ไม่เพียงแค่ช่วยให้ผ่านช่วงยากลำบาก แต่ยังทำให้รู้สึกว่าไม่ต้องเผชิญปัญหาคนเดียว มีคนอีกคนคอยอยู่ข้าง ๆ และช่วยกัน - เมื่อภรรยามีบุตร
การมีบุตรเป็นช่วงเวลาที่ทั้งมีความสุขและท้าทาย แต่ก็มาพร้อมกับความเหนื่อยล้าทางกายและใจ พันธสัญญาช่วยให้สามีและภรรยาเข้าใจหน้าที่ที่ต้องรับผิดชอบร่วมกัน ไม่ปล่อยให้ฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งต้องแบกภาระทั้งหมดเพียงลำพัง ทั้งการช่วยเลี้ยงลูก ช่วยดูแลครอบครัว และแบ่งปันความเหนื่อยยาก ทำให้ภรรยารู้สึกได้รับการสนับสนุนและเข้าใจ ไม่ใช่แค่แม่ของลูก แต่ยังเป็นคู่ชีวิตที่อยู่เคียงข้างกัน - เมื่อเกิดความขัดแย้ง
ชีวิตคู่เต็มไปด้วยเรื่องเล็กใหญ่ที่อาจทำให้เกิดความขัดแย้ง การมีพันธสัญญาคือการสร้างหลักยึดให้ทั้งคู่รู้จักพูดคุย ปรับความเข้าใจ และหาทางออกร่วมกัน พันธสัญญาไม่ได้เป็นแค่กฎเกณฑ์ แต่คือสัญญาว่าจะไม่ทิ้งกันแม้ในวันที่อารมณ์พุ่งพล่าน เราจะรับฟังกันโดยไม่ตัดสิน เป็นที่พึ่งทางใจให้กันและกันในวันที่เรื่องราวหนักหนา เพื่อผ่านปัญหาไปด้วยความเข้าใจและการให้อภัย - เมื่อมองถึงอนาคตและทรัพย์สิน
การวางแผนชีวิตร่วมกันยังรวมถึงการเตรียมพร้อมสำหรับอนาคต ไม่ว่าจะเป็นเรื่องทรัพย์สิน มรดก หรือความมั่นคงของครอบครัว พันธสัญญาช่วยให้การตัดสินใจเรื่องเหล่านี้เป็นไปด้วยความเคารพซึ่งกันและกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น คู่ชีวิตยังคงรู้สึกว่าได้รับการสนับสนุนและยอมรับในความฝันและความหวังของกันและกัน ไม่ใช่แค่คำสัญญาว่าจะอยู่ด้วยกัน แต่เป็นการสร้างอนาคตร่วมกันจากความเข้าใจ
พันธสัญญาในการแต่งงานคือความผูกพันที่มากกว่าคำมั่นสัญญา แต่คือความรักที่มีความหมายลึกซึ้ง ที่จะช่วยให้ทั้งคู่ผ่านทุกบททดสอบไปด้วยกัน ไม่ว่าจะดีหรือร้าย โดยรู้ว่ามีคนอีกคนที่เข้าใจและพร้อมจะยืนอยู่เคียงข้างตลอดเวลา
สำหรับผู้หญิง พันธสัญญาในการแต่งงานคือหลักประกันที่ให้ความมั่นใจว่าพวกเธอจะได้รับการดูแล เอาใจใส่ และมีคนอยู่เคียงข้างไม่ว่าจะเจอปัญหาใด ๆ ในชีวิตคู่ ผู้หญิงต้องอุทิศทั้งร่างกายและจิตใจในการดูแลครอบครัว การมีพันธสัญญาช่วยให้เธอมั่นใจได้ว่าเธอจะไม่ถูกปล่อยให้เผชิญหน้ากับปัญหาลำพัง และยังได้รับการสนับสนุนจากคู่ชีวิตอย่างแท้จริง
การแต่งงานจึงไม่ใช่แค่การสร้างครอบครัว แต่เป็นการแสดงความรับผิดชอบของฝ่ายชายในการดูแลและปกป้องคนที่เขารัก การให้เกียรติผู้หญิงผ่านพันธสัญญาคือการยืนยันว่าผู้ชายจะไม่ละทิ้งหน้าที่ของตน แม้ในวันที่ชีวิตคู่ต้องเผชิญอุปสรรค ความชัดเจนในหน้าที่และการเคารพซึ่งกันและกันนี้จะทำให้ผู้หญิงรู้สึกมั่นคงและได้รับความเคารพในฐานะคู่ชีวิตอย่างแท้จริง
พันธสัญญาในการแต่งงานจึงเป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่งสำหรับผู้หญิง เพราะมันคือการรับประกันความสัมพันธ์ที่ตั้งอยู่บนความรับผิดชอบ การให้เกียรติ และความมั่นคงของครอบครัว
ครอบครัว พหุวัฒนธรรมที่แท้จริง กับการเปลี่ยนศาสนา คืออะไร?
แต่ละคนนั้นมีวิถีชีวิต วัฒนธรรม ศาสนาที่นับถือ ทรรศนะการดำเนินชีวิต แตกต่างกันไม่มากก็นอ้ย เมื่อจัดงานแต่งงานกันแล้วนั้น ก็ต้องอยู่แต่ละครอบครัว จะเลือกพันธะสัญญาแบบไหน ซึ่งต้องเลือกด้วยตัวเอง และรับผิดชอบด้วยตัวเอง ไม่ว่าจะเป็ฯพันธะสัญญาตามกฏหมาย หรือ พันธะสัญญาตามจารีตศาสนา
ข้อผิดพลาดใหญ่คือ การพยายามไปปรับเปลี่ยน พันธสัญญาทางจารีต ยกตัวอย่างเช่น พระสงฆ์ในประเทศไทย ไม่สามารถแต่งงานได้ แต่เราอยากแต่งงานกับพระสงฆ์ จึงจัดงานแต่งงานขึ้น ตามจารีตของพุทธศาสนา แบบนี้ ไม่ใช่หลักการของพหุวัฒนธรรม
เนื่องจากการไม่ยอมรับในจารีตนั้น แล้วไปปรับเปลี่ยนเป็นต้น
ศาสนาอิสลามเองมีพันธะสัญญาต่อครอบครัวที่มีความจำเพาะเช่น ความรับผิดชอบทางการเงินของฝ่ายชายที่ต้องมีต่อฝ่ายหญิง โดยเฉพาะ ฝ่ายชายต้องหาเลี้ยงฝ่ายหญิงทั้งหมดเป็นหน้าที่ตามหลักศาสนา ซึ่งแตกต่างจากพันธสัญญาทางกฏหมาย การจัดการชีวิตคู่และอื่นๆ ชายมุสลิมมีหน้าที่ตามพันธะสัญญาที่ ต้องให้ความคุ้มครองทางเศรษฐกิจ กาย และ ใจ และสร้างพื้นที่ปลอดภัยในการเริ่มต้นครอบครวและลูก ศาสนาจึงสนับสนุนให้แต่งงานด้วยผู้ที่เข้าใจหลักการและคำสอนของศาสนาอิสลาม เพื่อให้สามารถใช้กติกาในชีวิตคู่เหมือนกัน ดังนั้น การแต่งงานอิสลามจึงจำเป็นต้องเป็นมุสลิมด้วยกันนั่นเอง
แม้เราเป็นมุสลิม เราก็จะไม่ขอให้พระสงฆ์แต่งงานได้ เพราะเราเข้าใจ และยอมรับ และให้เกียรติวัฒนธรรมของศาสนาพุทธในประเทศไทย เช่นเดียวกัน เราไม่ขอให้จัดงานแต่งงานอิสลาม โดยไม่เปลี่ยนมานับถือศาสนาอิสลามรวมทั้งเรียนรู้วิถีชีวิตของมุสลิมก่อน เพราะเรายอมรับและให้เกียรติวัฒนธรรมของศาสนาอิสลาม แม้เราเป็นพุทธนั่นเพราะเราใหเ้กียรติและเคารพในหลักการของศาสนาอื่นๆที่ไม่เหมือนกับเรานั่นคือพหุวัฒนธรรม เราเคารพในศาสนาอื่นๆ และเชื่อว่าทุกศาสนามีหลักการและเหตุผลของแต่ละศาสนาในตัวเอง การเลือกทางเลือกใดนั้นอยู่ที่ตัวบุคคลที่ต้องรับผิดชอบ และตัดสินใจด้วยตัวเอง
ทางออก ทางเลือกของ ผู้ที่ต้องการแต่งงานโดยไม่เปลี่ยนศาสนา
อย่างไรก็ดีถ้าก็ดีถ้าชายและหญิงประสงค์จะแต่งงานโดยการไม่ใช้พันธสัญญา ทางจารีตหรือศาสนา ก็จะต้องไปโฟกัสที่การแต่งงานด้วยพันธะสัญญาทางกฏหมาย ซึ่งประเทศไทยนั้น ไม่ได้มีข้อห้ามแต่อย่างไรในการที่ชายและหญิงจะแต่งงานโดยไม่เปลี่ยนศาสนา ในกรณีนี้ ต้องบริหารจัดการความขัดแย้งต่างๆในครอบครัวให้ดี และเป็นระบบ เพราะในท้ายที่สุดแล้ว ไม่ว่าจะศาสนาใดหรือไม่มีศาสนา ครอบครัวเดิมเป็นพื้นที่สำคัญ ที่ช่วยรับมือกับความท้าทายที่อาจเกิดขึ้นจากการแต่งงาน เช่น การเลี้ยงดูบุตร ปัญหาทางการเงิน ความขัดแย้งและอื่นๆ การลดความแตกหักกับครอบครัว จากปัญหาด้านการแต่งงานให้เหลือน้อยที่สุดหรือไม่มีเลย ยังเป็นตัวเลือกที่ต้องให้ความสำคัญ
สรุปส่งท้าย
การให้ความเคารพในข้อจำกัดซึ่งกันและกัน คือ พื้นที่พหุวัฒนธรรมที่แท้จริง อย่างไรก็ตาม ไม่ว่าจะ แต่งงานด้วย พันธสัญญาทางจารีตศาสนา หรือ แต่งงานด้วยพันธสัญญาทางกฏหมาย สิ่งที่ต้องไม่ลืมเสมอว่า เราไ่มได้อยู่แค่สองคนในโลกใบนี้
เรายังต้องหมั่นดูแลเครือญาติไปมาหาสู่ แม้เค้าจะมีความคิด ความเชื่อ หรือทรรศนะทางศาสนาที่แตกต่างกันก็ตาม ไม่มีศาสนาไหน กฏหมายข้อใดที่ห้ามมนุษย์ที่จะทำดีต่อกัน ให้เกียรติ และเคารพในความเชื่อซึ่งกันและกัน แม้ความคิด ความเชื่อนั้นจะแตกต่างจาก จงช่วยกัน พัฒนาพื้นที่ปลอดภัย ให้กับการอยู่ร่วมกัน ระหว่างครอบครัวที่มีที่มาจากต่างศาสนาให้ราบรื่นมากที่สุดนั่นคือหน้าที่ ที่เราจะทำอย่างสุดกำลัง
สุดท้ายนี้ ไม่ว่าจะมีความเชื่อทรรศนะความเห็นในการดำเนินชีวิตอย่างไร
จงมีมารยาท และรักษามารยาที่ดีเสมอ
เพราะมารยาทเป็นเครื่องสะท้อนศีลธรรมขั้นพื้นฐาน
ไม่ว่าเราจะรับนับถือหรือไม่นับถือศาสนานั่นเอง
0 Comments