KFC ฮาลาลหรือไม่ ทำไมมีที่ซาอุ?
ถอดบทเรียน ประวัติศาสตร์ KFC และตราฮาลาลในประเทศไทย คู่มือการใช้ชีวิตสำหรับมุอัลลัฟ 101
สำหรับผู้สนใจอิสลามหรือมุสลิมใหม่ อาจเคยได้ยินเกี่ยวกับประเด็นของ KFC ในประเทศไทย บ้างถึงข้อถกเถียงว่ากินได้หรือไม่ วันนี้ ARAYA NIKAH จะมาเล่าประเด็นนี้ให้ฟังครับ
KFC ฮาลาลหรือไม่?
KFC ในหลายประเทศได้รับการรับรองฮาลาลเพื่อสอดคล้องกับหลักการศาสนาอิสลามและตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคมุสลิม ตัวอย่างเช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย สิงคโปร์ และบรูไน ซึ่งได้รับการรับรองฮาลาลจากหน่วยงานศาสนาในประเทศนั้นๆ รวมถึงซาอุดีอาระเบียที่ได้รับการรับรองฮาลาลจากหน่วยงานศาสนาในประเทศ อย่างไรก็ตาม ในบางประเทศ เช่น สหราชอาณาจักร (UK) แม้บางสาขาจะได้รับการรับรองฮาลาลจาก Halal Food Authority (HFA) แต่ยังมีการถกเถียงและความไม่แน่ใจในหมู่ผู้บริโภคมุสลิม
ทำไม KFC ประเทศไทยไม่ขอตราฮาลาล?
จากข้อมูล KFC ในประเทศไทย เคยได้รับการรับรองฮาลาลในบางสาขา เช่น ในจังหวัดภูเก็ตและกระบี่ อย่างไรก็ดี ทางคณะกรรมการอิสลามประเทศไทยได้มีการเปลี่ยนนโยบายสำหรับการรับรองฮาลาลให้กับธุรกิจเฟรนไชส์ ซึ่งทำให้ KFC ทุกสาขาทั่วประเทศต้องจดรับรองฮาลาลด้วยกันทั้งหมด ไม่สามารถจดแยกสาขาได้ เป็นเหตุทำให้ทาง KFC ไม่ต่อสัญญาดังกล่าว
KFC ที่ไม่ขอต่อตราฮาลาลทานได้หรือไม่?
Thai Franchise Center รายงานว่า “นายไพศาล พรหมยงค์” ประธานคณะกรรมการอิสลามประจำจังหวัดสมุทรปราการ อดีตประธานคณะกรรมการฝ่ายกิจการฮาลาล คณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ได้เปิดเผยทางสถานีโทรทัศน์ NEWTM CHANAL เมื่อหลายปีก่อนถึงกรณีปัญหาฮาลาล KFC โดยย้ำว่า KFC เมื่อไม่มีการขอฮาลาล ก็ไม่สามารถกล่าวได้ว่าฮาลาลหรือฮารอม ผู้บริโภคต้องใช้วิจารณญาณของตนเองในการตัดสินใจ
ถ้า KFC ไทยเปลี่ยนใจขอต่อตราฮาลาล ได้ไหม?
Thai Franchise Center รายงานว่า จากมติที่ประชุมของคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย ณ โรงแรมเกรซแลนด์แอน สปาจังหวัดภูเก็ต เมื่อวันที่ 29 พฤษภาคม 2557 ถ้าจะมีการต่ออายุต้องเข้าสู่”กระบวนการเจรจาใหม่”โดย KFC และแฟรนไชส์ จะต้องขอการรับรองฮาลาลทั้งระบบทั่วประเทศเท่านั้น จึงจะให้การรับรองและให้ใช้เครื่องหมายรับรองฮาลาลได้ และให้สามารถ.ปรับลดค่าธรรมเนียมได้” ตามความเหมาะสมตามรายจังหวัดและความหนาแน่นของประชากรมุสลิม
KFC ขอตราฮาลาลตอนนั้น ต้องใช้เงินเท่าไหร่?
สื่ออิสระ รายงานว่า เนื่องจาก ในการให้ตราฮาลาล กรรมการอิสลามฯ จะคิดค่าใช้จ่าย ทั้งรายครั้ง และรายเดือน รายปี แยกเป็นรายสาขา ดังนั้น การขอตราฮาลาล ไปติดทุกสาขา ของ KFC (ประมาณ 500 แห่ง) ทั่วประเทศ จะต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มขึ้นมา ปีละประมาณ 25 ล้านบาท
แต่หากขอฮาลาล เฉพาะพื้นที่มุสลิมหนาแน่น และจังหวัดท่องเที่ยว อาจใช้เงินเพียง 5 ล้าน/ปี เท่ากับประหยัดไปปีละ 20 ล้าน ซึ่งตรงนี้ทำให้ KFC ยังไม่มีการดำเนินเรื่องอย่างจริงจัง
ถ้าKFC ขอตราฮาลาลในปัจจบุัน (พศ 2568) ต้องใช้เงินประมาณเท่าไหร่?
จากการประเมินด้วย ตัวเลขค่าธรรมเนียม และจำนวนสาขาเบื้องต้น (ทั้งหมดเป็ฯค่าประมาณการณ์) ปัจจุบัน หาก KFC เข้าระบบฮาลาลและขอรับรองฮาลาลทุกสาขาในประเทศไทยที่มีจำนวนประมาณ 1,000 สาขา โดยพิจารณาจากค่าธรรมเนียมปัจจุบันโดยไม่มีส่วนลด จะมีค่าใช้จ่ายรวมอยู่ที่ประมาณ 47,000,000 บาทต่อปี แบ่งเป็นค่าธรรมเนียมการตรวจสอบสถานประกอบการขนาดใหญ่ 35,000 บาทต่อสาขา รวม 35,000,000 บาท และค่าที่ปรึกษารายปี 12,000 บาทต่อสาขา รวม 12,000,000 บาท ค่าใช้จ่ายนี้ยังไม่รวมค่าธรรมเนียมเพิ่มเติมสำหรับการใช้เครื่องหมายฮาลาลบนผลิตภัณฑ์ ทั้งนี้ การคำนวณดังกล่าวเป็นการประมาณการเบื้องต้นตามค่าธรรมเนียมปัจจุบันโดยไม่ได้พิจารณาส่วนลดที่อาจมีในกรณีจริง (อ้างอิงค่าธรรมเนียม สำนักงานคณะกรรมการกลางอิสลามแห่งประเทศไทย, n.d., ระเบียบว่าด้วยการรับรองฮาลาล).
ไก่ KFC ทำจากไขมันหมูและเคยแพ้คดีในต่างประเทศจริงหรือไม่?
มีข่าวแพร่หลายเกี่ยวกับการแพ้คดีของ KFC ในต่างประเทศว่ามีไขมันทำจากหมู อย่างไรก็ดี เมื่อทำการตรวจสอบแล้วพบว่าเป็นข่าวเท็จ เนื้อข่าวจริงๆ เป็นการฟ้องร้องระหว่าง KFC สาขากับ KFC สำนักงานใหญ่ เกี่ยวกับการใช้ตราฮาลาลในโฆษณา โดย KFC สาขามีเจ้าของเป็นมุสลิมและใช้ตราฮาลาลมา 14 ปี แต่โดนสำนักงานใหญ่ห้ามใช้ตราฮาลาลเนื่องจากปัญหากฎหมายระหว่างประเทศ การฟ้องนี้จบที่ KFC สาขาลูกแพ้ และไม่ได้เกี่ยวข้องกับส่วนผสมที่ไม่ฮาลาลแต่อย่างใด
KFC: ความคิดเห็นและประเด็นที่ถูกแบนในบางประเทศ
KFC ซึ่งเป็นแบรนด์อาหารจานด่วนระดับโลกที่บริหารโดย Yum! Brands ในสหรัฐอเมริกา ได้รับความนิยมในหลายประเทศ แต่ก็มีรายงานจากสื่อต่าง ๆ ว่าบริษัทนี้ถูกแบนหรือเผชิญการคว่ำบาตรในบางพื้นที่ด้วยเหตุผลทางการเมืองและวัฒนธรรม
ตามรายงานของ Middle East Eye และ Al Jazeera ในเขตปาเลสไตน์ กลุ่มประชาชนบางส่วนได้รณรงค์คว่ำบาตรสินค้าอเมริกัน รวมถึง KFC โดยให้เหตุผลว่าแบรนด์เหล่านี้อาจมีส่วนเกี่ยวข้องกับการสนับสนุนเศรษฐกิจของอิสราเอลในเชิงอ้อม การรณรงค์นี้ไม่เพียงจำกัดอยู่ในเขตปาเลสไตน์ แต่ยังส่งผลไปถึงชุมชนมุสลิมในพื้นที่อื่น ๆ ที่มีความตระหนักในประเด็นเหล่านี้
ในอิหร่าน มีรายงานจาก CNN ในปี 2016 ว่า KFC ถูกแบนในบางพื้นที่ เนื่องจากรัฐบาลท้องถิ่นมองว่าแบรนด์ดังกล่าวเป็นสัญลักษณ์ของวัฒนธรรมตะวันตกที่ไม่สอดคล้องกับคุณค่าทางวัฒนธรรมของประเทศ นอกจากนี้ ในอิรัก กลุ่มติดอาวุธบางกลุ่มเคยปิดร้าน KFC ด้วยเหตุผลทางการเมือง
สำหรับมาเลเซีย แม้ว่า KFC จะได้รับความนิยมและมีการดำเนินธุรกิจอย่างแพร่หลาย แต่ในบางช่วงเวลา บริษัทเคยเผชิญการวิพากษ์วิจารณ์และการรณรงค์ในโลกออนไลน์โดยกลุ่มผู้บริโภคบางส่วน ตัวอย่างเช่น รายงานจาก Free Malaysia Today ระบุว่ามีการเรียกร้องให้คว่ำบาตร KFC เนื่องจากข้อสงสัยเกี่ยวกับแหล่งทุนและความสัมพันธ์ในระดับโลกกับกลุ่มที่ถูกมองว่าไม่เป็นมิตรต่อชาวมุสลิม แม้ว่า KFC ในมาเลเซียจะได้รับการรับรองฮาลาลและดำเนินธุรกิจอย่างใกล้ชิดกับชุมชนท้องถิ่น การรณรงค์ในลักษณะนี้สะท้อนให้เห็นถึงความอ่อนไหวของผู้บริโภคในเรื่องแหล่งที่มาของแบรนด์และความสัมพันธ์ในระดับโลก
ในอียิปต์ ตามรายงานของ The New York Times ร้าน KFC ในบางพื้นที่เคยถูกปิดชั่วคราวหลังจากการประท้วงที่เกี่ยวข้องกับสถานการณ์การเมืองในประเทศ ประเด็นเหล่านี้สะท้อนถึงความเชื่อมโยงของแบรนด์ข้ามชาติในประเด็นที่ซับซ้อนทางการเมืองและสังคม
แม้ว่าปัญหาเหล่านี้จะไม่ส่งผลกระทบต่อ KFC ในทุกประเทศ แต่การที่แบรนด์นี้ถูกแบนหรือคว่ำบาตรในบางพื้นที่ได้สะท้อนถึงความท้าทายที่บริษัทข้ามชาติต้องเผชิญในสภาพแวดล้อมที่แตกต่างกันทั้งด้านวัฒนธรรมและการเมือง
คณะกรรมการอิสลามสนับสนุนให้บริโภคอาหารที่มีตราฮาลาล
คณะกรรมการอิสลามสนับสนุนให้บริโภคอาหารที่มีตราฮาลาล เนื่องจากอาหารฮาลาลคืออาหารที่ได้รับอนุมัติตามบัญญัติศาสนาอิสลาม ให้มุสลิมบริโภคหรือใช้ประโยชน์ได้ การบริโภคอาหารที่มีตราฮาลาลช่วยให้มุสลิมมั่นใจว่าอาหารนั้นปราศจากสิ่งต้องห้าม (ฮารอม) และมีคุณค่าทางอาหารที่ถูกสุขอนามัย นอกจากนี้ การเลือกบริโภคอาหารที่มีตราฮาลาลยังสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลาม ซึ่งกำหนดให้มุสลิมปฏิบัติตามสิ่งที่อนุมัติ (ฮาลาล) และหลีกเลี่ยงสิ่งที่ต้องห้าม (ฮารอม) ดังนั้น การบริโภคอาหารที่มีตราฮาลาลจึงเป็นการปฏิบัติตามหลักศาสนาและส่งเสริมสุขภาพที่ดีของมุสลิม
ประเทศไทยมีขั้นตอนมาตรฐานฮาลาลที่เข้มงวดและเป็นระบบ เพื่อให้มั่นใจว่าผลิตภัณฑ์ที่ได้รับการรับรองฮาลาลนั้นสอดคล้องกับหลักศาสนาอิสลามและมีคุณภาพสูง กระบวนการรับรองฮาลาลในประเทศไทยประกอบด้วยหลายขั้นตอน ตั้งแต่การยื่นคำขอ การตรวจสอบสถานประกอบการ การวิเคราะห์วัตถุดิบและกระบวนการผลิต ไปจนถึงการติดตามและประเมินผลหลังการรับรอง มาตรฐานฮาลาลของไทยได้รับการยอมรับในระดับสากล ทำให้ผลิตภัณฑ์ฮาลาลของไทยมีความน่าเชื่อถือและสามารถแข่งขันในตลาดโลกได้ นอกจากนี้ การปฏิบัติตามมาตรฐานฮาลาลยังช่วยส่งเสริมความปลอดภัยและคุณภาพของผลิตภัณฑ์ ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อผู้บริโภคทุกคน ไม่เฉพาะมุสลิมเท่านั้น
สรุป KFC มุสลิมทานได้หรือไม่?
จากข้อมูลที่กล่าวมาทั้งหมด KFC ได้รับการรับรองฮาลาลในหลายประเทศ เช่น มาเลเซีย อินโดนีเซีย และซาอุดีอาระเบีย แต่ในประเทศไทย KFC ไม่มีการรับรองฮาลาลอย่างเป็นทางการ เนื่องจากนโยบายที่เปลี่ยนไปของคณะกรรมการอิสลามไทย เมื่อทาง KFC ไม่ได้ขอต่อสัญญาดังกล่าว ทำไมปัจจุบัน ยังไม่มีระบบเข้าไปตรวจสอบกระบวนการผลิต จัดส่ง จัดเก็บ และอื่นๆ ผู้บริโภคจึงควรใช้วิจารณญาณในการตัดสินใจ และรับผิดชอบการตัดสินใจของตัวเอง
อ้างอิง
- Al Jazeera. (n.d.). Palestinian call to boycott US brands. Retrieved from https://www.aljazeera.com
- CNN. (2016). KFC banned in Iran for promoting Western culture. Retrieved from https://www.cnn.com
- Courthouse News. (n.d.). KFC franchisee loses fight to market chicken as Muslim-friendly. Retrieved from https://www.courthousenews.com
- Free Malaysia Today. (n.d.). KFC faces online boycott over global ties. Retrieved from https://www.freemalaysiatoday.com
- Middle East Eye. (n.d.). Boycotts in the Middle East: The Palestinian perspective. Retrieved from https://www.middleeasteye.net
- Thai Franchise Center. (n.d.). ประวัติ KFC และฮาลาลในประเทศไทย. Retrieved from http://m.thaifranchisecenter.com/show_document.php?ID=7325
- The New York Times. (n.d.). KFC outlets close in Egypt amid political protests. Retrieved from https://www.nytimes.com
- สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. (n.d.). อาหารฮาลาล. สืบค้นจาก https://www.acfs.go.th/halal/general.php
- สำนักงานมาตรฐานสินค้าเกษตรและอาหารแห่งชาติ. (n.d.). การรับรองมาตรฐานฮาลาล. สืบค้นจาก https://www.acfs.go.th/halal/halal_cert.php
- ศูนย์ฮาลาลแห่งประเทศไทย. (n.d.). มาตรฐานฮาลาลของไทยในตลาดโลก. สืบค้นจาก https://www.halalstandard.or.th
- https://www.caterermiddleeast.com/
- https://www.mtoday.co.th/35524
- สื่ออิสระ facebook https://www.facebook.com/photo/?fbid=340274136407140&set=a.148060392295183
0 Comments